ฟักข้าว Momordica cochinchinnensis (Lour.) Spreng.
อยู่ในวงศ์แตงกวาและมะระคือวงศ์ Cucurbitaceae
ชื่อ เรียกอื่นคือ ขี้กาเครือ (ปัตตานี) ผักข้าว (ตาก ภาคเหนือ) มะข้าว (แพร่) แก็ก (Gac เวียดนาม) Baby Jackfruit, Spiny Bitter Gourd, Sweet Gourd, และ Cochin-chin Gourd
ฟักข้าวมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน พม่า ไทย ลาว บังกลาเทศ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ เป็นพืชที่ชาวเวียดนามใช้ประกอบอาหารมาก ในชนบทมีปลูกกันเกือบทุกบ้านเรือน
ฟักข้าว เป็นไม้เถาเลื้อยพัน มีมือเกาะ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงแบบสลับ ใบรูปหัวใจหรือรูปไข่ กว้างยาวเท่ากันประมาณ ๖-๑๕ เซนติเมตร ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก ๓-๕ แฉก
ดอก เป็นดอกเดี่ยวพบที่ซอกใบ ต้นแยกเพศอยู่คนละต้น กลีบดอกสีขาวแกมเหลือง ตรงกลางมีสีน้ำตาลแกมม่วง ใบประดับมีขน
ผลอ่อนมีสีเขียวอมเหลือง เจริญได้เองโดยไม่ต้อง ถูกผสม เมื่อผลสุกจะมีสีแดง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือแยกรากปลูก
ฟักข้าวเริ่มมีดอกหลังแยกราก ปลูกประมาณ ๒ เดือน เริ่มผลิดอกราวเดือนพฤษภาคมและให้ดอกจน ถึงราวเดือนสิงหาคม ผลสุกใช้เวลาประมาณ ๒๐ วัน และใน ๑ ฤดูกาลจะเก็บเกี่ยวผลฟักข้าวได้ ๓๐-๖๐ ผล โดยเก็บผลสุกได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
ผลของฟักข้าว มี ๒ ชนิด ผลยาวมีขนาดยาว ๖-๑๐ เซนติเมตร ส่วนผลกลมยาว ๔-๖ เซนติเมตร เปลือกผลอ่อนสีเขียวมีหนามถี่ เปลี่ยนเป็นสีส้มแก่หรือแดงเมื่อผลสุก แต่ละผลหนักตั้งแต่ ๐.๕-๒ กิโลกรัม
ที่ประเทศเวียดนามมักปลูก ฟักข้าวพาดพันไม้ระแนงข้างบ้าน และเก็บเฉพาะผลสุกมาประกอบอาหาร แต่เนื่องจากฟักข้าวให้ผลดีที่สุดในช่วงฤดูหนาว ชาวเวียดนามจึงนิยมใช้ประกอบอาหารในเทศกาลปีใหม่และงานมงคลสมรสเท่านั้น
ผล ฟักข้าวมีเปลือกหนา ผลสุกเนื้อในหนามีสีส้ม ภายในมีเยื่อสีแดงให้เมล็ดเกาะ เนื้อผลสุกกินได้ ที่ประเทศเวียดนามใช้เยื่อสีแดงและเมล็ด (มีน้ำมัน) เป็นยา ฟักข้าว ๑ ผลจะได้เยื่อสีแดงราว ๒๐๐ กรัม
ประโยชน์ ทางโภชนาการ
ในประเทศไทยใช้ผลฟักข้าวอ่อนสีเขียวเป็นอาหาร รสชาติเนื้อฟักข้าวเหมือนมะละกอ ลวกหรือต้มให้สุกหรือ ต้มกะทิจิ้มน้ำพริกกะปิ หรือใส่แกง ยอดอ่อน ใบอ่อนนำ มาเป็นผักได้ นำมานึ่งหรือลวกให้สุกกินกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงเป็นแกง เช่น แกงแค
ประเทศ เวียดนามกินข้าวเหนียวหุงกับเยื่อเมล็ดผลฟักข้าวสุก เนื่องจากชาวเวียดนามถือว่าสีขาวเป็น สีแห่งความตาย ข้าวสีส้มแดงจึงจัดเป็นมงคลต่องานเทศกาลต่างๆ ชาวเวียดนามเอาเยื่อสีแดงจากผลฟักข้าวสุกพร้อม เมล็ดมาหุงกับข้าวเหนียว ได้ข้าวสีส้มแดงมีกลิ่นหอม ต้องมีเมล็ดฟักข้าวติดมาในข้าวด้วยจึงว่าเป็นของแท้ ถึงกับมีการหุงข้าวใส่สีผสมอาหารสีแดงเลียนแบบการใช้ฟักข้าวนอกฤดูกาลก็มี เชื่อว่าบำรุงสายตา
เยื่อเมล็ดของฟักข้าวมีปริมาณบีตาแคโรทีนมาก กว่าแครอต ๑๐ เท่า มีไลโคพีนมากกว่ามะเขือเทศ ๑๒ เท่า และมีกรดไขมันขนาดยาวประมาณร้อยละ ๑๐ ของมวล การกินบีตาแคโรทีนจากฟักข้าวพบว่าดูดซึมในร่างกายได้ดีเพราะละลายได้ในกรด ไขมันดังกล่าว
ความเชื่อที่ว่าฟักข้าวบำรุงสายตานั้นถูกต้อง แต่ต้องกินส่วนที่มาจากเยื่อเมล็ดไม่ใช่ส่วนอื่น เมื่อใช้เยื่อฟักข้าวเสริมอาหารให้กับเด็กก่อนวัยเรียนในงานวิจัยในประเทศ เวียดนาม พบว่าเด็กในกลุ่มมีปริมาณบีตาแคโรทีนและไลโคพีนในพลาสมาสูงขึ้น และกลุ่มที่มีปริมาณความเข้มข้นของเฮโมโกลบินต่ำมีความเข้มข้น เพิ่มขึ้นด้วย จึงแนะนำให้ผู้มีเลือดจางกินข้าวหุงเยื่อเมล็ดฟักข้าวสุกด้วย ปัจจุบันมีผู้นำเยื่อเมล็ดนี้ผลิตเป็นเครื่องดื่มอาหารเสริมจำหน่ายในต่าง ประเทศ
ไลโคพี นเป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ พบได้ในผักและผลไม้บางชนิด ทำหน้าที่เป็นรงควัตถุรวบรวมแสงให้แก่พืช และป้องกันพืชผักจากออกซิเจนโมเลกุลเดี่ยว (อนุมูลอิสระ) และแสงที่จ้าเกินไป การกินไลโคพีนที่มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นได้รับการพิสูจน์จากวงการแพทย์ว่ามี ผลลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร เนื่องจากเยื่อเมล็ดฟักข้าวมีไลโคพีน มากกว่าผลไม้อื่นๆ ทุกชนิด จึงถือว่าเป็นอาหารต้านมะเร็งที่ดีที่สุดชนิดหนึ่งจากฤทธิ์ของไลโคพีน
ฤทธิ์ ในการบำบัดรักษาโรคประเทศจีน
ใช้เมล็ดแก่ของฟักข้าวเป็นยา มานานกว่า ๑,๒๐๐ ปี ใช้บำบัดอาการอักเสบบวม กลากเกลื้อน ฝี อาการฟกช้ำ ริดสีดวง แก้ท้องเสีย อาการผื่นคันและโรคผิวหนังติดเชื้อต่างๆ ทั้งในมนุษย์และสัตว์ต่างๆ การกินฟักข้าวเป็นยานั้น ใช้เมล็ดแก่บดแห้ง ส่วนการใช้ภายนอก ให้นำเมล็ดฟักข้าวบดแห้งผสมน้ำมันหรือน้ำส้มสายชูเล็กน้อยทาบริเวณที่มี อาการ และใช้เยื่อเมล็ดแทนสีผสมอาหาร งานวิจัยในประเทศจีนพบว่าโปรตีนจากเมล็ดมีความสามารถต้านอนุมูลอิสระและ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์ตับในหลอดทดลอง เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของฤทธิ์ทางชีวภาพของเมล็ดฟักข้าว ถือว่าลดความเสียหายจากอนุมูลอิสระจึงมีฤทธิ์ป้องกันมะเร็ง นอกจากนี้ เมล็ดฟักข้าวเป็นส่วนผสมของยาแก้ปวดกล้ามเนื้อและคลายกล้ามเนื้อในเครื่องยา จีนหลายตำรับ
ประเทศ เวียดนาม
การวิจัยทางคลินิกที่มหาวิทยาลัยฮานอย พบว่าน้ำมันจากเยื่อเมล็ดฟักข้าวมีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งตับ
ประเทศ ไทย
มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลเกี่ยวกับสรรพคุณของเมล็ดฟักข้าว พบโปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อเอชไอวี-เอดส์ และยับยั้งเซลล์มะเร็งจดสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้ว งานวิจัยอื่นของไทยและต่างประเทศพบว่า เมล็ดแก่ของฟักข้าวมีโปรตีน มอร์มอโคลชิน-เอส และโคลชินิน-บี มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของไรโบโซมซึ่งเป็นแหล่งผลิตกรดอะมิโน และต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งหลายชนิดในหลอดทดลอง ซึ่งอาจนำไปใช้พัฒนา เภสัชภัณฑ์ได้ในวันข้างหน้า
ประเทศฟิลิปปินส์และประเทศไทย
ใช้ราก ฟักข้าวสระผมเพื่อกำจัดเหา ใช้รากบดหมักผมกระตุ้นให้ผมดก ประเพณีล้านนาของไทยใช้ ฟักข้าวในการดำหัว (คือการสระผม) สตรีล้านนา ดำหัวสัปดาห์ละครั้ง �ยาสระผมŽ ประกอบด้วย ฝักส้มป่อยจี่ ผลมะกรูดเผา ผลประคำดีควายหมกไฟพอให้สุก รากของต้นฟักข้าว รากแหย่งบดหยาบ ทั้งหมดผสมกับน้ำอุ่นหมักผมไว้สัก ระยะหนึ่งแล้วจึงล้างออก จะทำให้แก้คันศีรษะ แก้รังแค แก้ผมร่วงและช่วยให้ผมดกดำ
ประเทศ ญี่ปุ่น
ทำการวิจัยพบว่า โปรตีนจากสารสกัดน้ำของผลฟักข้าวยับยั้งการเจริญของก้อนมะเร็งลำไส้ใหญ่ใน หนูทดลอง โดยลดการแผ่ขยายของหลอดเลือดรอบก้อนมะเร็งและชะลอการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ดังกล่าว ในห้องทดลองน้ำสกัดผลฟักข้าวยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งตับและมะเร็งลำ ไส้ใหญ่โดยการทำให้เซลล์แตกตาย
ผลอ่อนฟักข้าวกินได้ ผลแก่ก็อุดมคุณค่า ลองหาพันธุ์มาปลูกให้เลื้อยเล่นหน้าบ้านจะได้กินเมื่อใจ ปรารถนา เป็นการสร้างสุขภาพป้องกันโรคร้ายได้อย่างดี
รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ
กลุ่มวิชาเภสัชโภชนศาสตร์ โครงการบัณฑิตศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
http://www.doctor.or.th/node/1060
---------------
ผลฟักข้าว |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น